วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

ประโยชน์ของสถิติในงานวิจัย

ประโยชน์ของสถิติในงานวิจัย

นักวิชาการหลายท่านได้กล่าวถึงประโยชน์ของสถิติในงานวิจัยไว้ ดังต่อไปนี้

กัลยา วานิชย์บัญชา (2549 : 4 - 5) กล่าวถึงประโยชน์ของสถิติในงานวิจัย ไว้ดังนี้

1. ช่วยวางแผนของงานวิจัย ตั้งแต่การเก็บรวบรวมข้อมูล การกำหนดขนาดตัวอย่าง การออกแบบงานวิจัยในขั้นต่าง ๆ

2. เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นเหตุการณ์หรือความเป็นจริงที่เกิดขึ้น เช่น ทราบว่า

- วิธีการรักษาคนไข้ด้วยวิธี A ให้ผลดีกว่าวิธีการรักษาแบบอื่น ๆ

- ลูกค้ามีความพึงพอใจในสินค้าและบริการมากน้อยเพียงใด

- นักเรียนส่วนใหญ่มีผลการเรียนเป็นอย่างไร เป็นต้น

3. หาสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ เมื่อสามารถหาสาเหตุได้แล้วจะได้นำไปวางแผนหรือหาทางแก้ไข เช่น

- สาเหตุที่ทารกแรกเกิดพิการ หรือเรียกว่าทารกมีความพิการแต่กำเนิดเนื่องจากขณะที่แม่ตั้งครรภ์มีการติดเชื้อ หรือได้รับยาบางชนิด เป็นต้น

- สาเหตุที่ลูกค้าไม่พอใจในสินค้าหรือบริการ เนื่องจากผู้ให้บริการไม่มีความเต็มใจที่จะให้บริการ

- สาเหตุที่ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนแตกต่างกัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมทั้งที่บ้านและกลุ่มเพื่อนสนิทที่โรงเรียนแตกต่างกัน เป็นต้น

4. การประเมินผลงาน

ชวนชัย เชื้อสาธุชน (2551 : 3 - 4) กล่าวถึงประโยชน์ของวิชาสถิติ ไว้ดังนี้

1. เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เพราะชีวิตคนในวันหนึ่ง ๆ นั้น จะประสบกับเหตุการณ์หรือข้อมูลต่าง ๆ มากมาย การแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดจึงจำเป็นจะต้องอ่านและแปลเหตุการณ์เป็น หรือจะพูดว่าต้องทันต่อข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง มิฉะนั้นแล้วก็จะดำเนินชีวิตหรือกิจกรรมสู้คนอื่นไม่ได้

2. เพื่อใช้ในการค้นคว้าเอกสาร ปัจจุบันวิทยาการก้าวหน้ามาก แต่ละวิชาจะมีเอกสารออกมามากมาย และเอกสารส่วนใหญ่จะอธิบายด้วยข้อมูล ข่าวสาร นำหลักการทางสถิติมาอธิบายกันมากมาย ผู้ที่ขาดความรู้ทางสถิติจะทำให้ตามวิชาการใหม่ ๆ ไม่ทัน จะกลายเป็นคนล้าสมัย ถ้ามีความรู้ด้านสถิติแล้วก็จะทำให้เข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น

3. เพื่อใช้ในการทดลองและวิจัย การทดลองใด ๆ มักจะเกิดตัวเลขที่ไม่แน่นอนคงที่อยู่เสมอ การแปลความหมายของตัวเลขเหล่านี้ได้ จึงต้องอาศัยวิธีการทางสถิติ การวิจัย ก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์ ต้องใช้วิธีการทางสถิติทั้งนั้น เพื่อทดสอบสมมุติฐานของการวิจัย ถ้าไม่รู้วิธีการทางสถิติจะแปลความหมายของข้อมูลได้ไม่ดีเท่าที่ควร

4. เพื่อให้เกิดปัญญา ที่กล่าวดังนี้ก็เพราะการเรียนวิชาสถิติต้องใช้ระเบียบวิธีการทางสถิติ ซึ่งเป็นแบบเดียวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สถิติจะเต็มไปด้วยการแปลความหมายโดยอาศัยหลักเหตุผลทั้งนั้น การฝึกคนให้รู้จักวิธีการคิดอย่างมีวินัยทางเหตุผล ย่อมเป็นการส่งเสริมให้คนแก้ปัญหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่พบเห็นได้เก่ง นั่นก็คือเสริมสร้างปัญญาให้คิดเป็นนั่นเอง

นิภา ศรีไพโรจน์ (2553 : ออนไลน์) กล่าวถึงประโยชน์ที่สำคัญของการวิจัย ไว้ดังนี้

1. ทำให้มีความรู้ ความเข้าใจสิ่งแวดล้อมและปัญหาต่าง ๆ ขึ้น

2. จะทำให้ทราบข้อเท็จจริงต่าง ๆ ในสภาพปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจ กำหนดนโยบายหรือวางแผนงานต่าง ๆ ให้ไปสู่เป้าหมายได้

3. เป็นการวิจัยที่เหมาะกับทางสังคมศาสตร์มาก เพราะจะได้รายละเอียดชัดเจนแน่นอน

4. ผลการวิจัยช่วยให้สามารถมองเห็นแนวโน้มของเหตุการณ์ในอนาคตได้

5. ทำให้ทราบความสัมพันธ์ของสภาพการณ์ต่าง ๆ ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการดำเนินงานให้ดีขึ้น

วาโร เพ็งสวัสดิ์ (2553 : 16) กล่าวถึงประโยชน์ของวิชาสถิติ ไว้ดังนี้

1. เพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิตประจำวัน ทั้งนี้เนื่องจากในวันหนึ่งจะประสบกับเหตุการณ์หรือข้อมูลต่าง ๆ มากมาย การแก้ปัญหาที่ชาญฉลาดจึงจำเป็นจะต้องอ่านและแปลเหตุการณ์เป็น หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าต้องทันข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวข้อง

2. เพื่อใช้ในการค้นคว้าเอกสาร ปัจจุบันวิทยาการก้าวหน้ามาก แต่ละวิชาจะมีเอกสารมากมาย และเอกสารส่วนใหญ่จะอธิบายด้วยข้อมูลข่าวสารเป็นสื่อสัมพันธ์ นำหลักการทางสถิติมาอธิบายกันมากมาย ผู้ที่ขาดความรู้ทางสถิติจะทำให้ตามวิทยาการใหม่ ๆ ไม่ทัน

3. เพื่อใช้ในการทดลองและวิจัย การทดลองใด ๆ มักจะเกิดตัวเลขที่ไม่แน่นอน การที่จะแปลความหมายขอบตัวเลขเหล่านั้นได้จะต้องอาศัยวิธีการทางสถิติ ในการวิจัยก็เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์หรือสังคมศาสตร์จะต้องใช้วิธีการทางสถิติทั้งสิ้นเพื่อทดสอบสมมุติฐานของการวิจัย ถ้าไม่รู้วิธีการทางสถิติก็จะไม่สามารถแปลความหมายของข้อมูลเหล่านั้นได้ดีพอ

4. เพื่อให้เกิดปัญหา ทั้งนี้เนื่องจากการเรียนสถิติต้องใช้ระเบียบวิธีการทางสถิติซึ่งเป็นแบบเดียวกับวิธีการทางวิทยาศาสตร์ สถิติจะเต็มไปด้วยการแปลความหมาย โดยอาศัยหลักเหตุผล การฝึกคนให้รู้วิธีการคิดอย่างมีเหตุผล ย่อมเป็นการส่งเสริมให้คนแก้ปัญหาในเหตุการณ์ ที่พบเห็น นั่นคือการส่งเสริมให้คนมีปัญหานั่นเอง

การใช้สถิติเชิงอ้างอิง/อนุมานในการวิจัย

1. ความหมายของสถิติเชิงอ้างอิงหรือสถิติเชิงอนุมาน (Inferential Statistics)

นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้

บุญชม ศรีสะอาด (2547 : 15) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นวิธีการทางสถิติที่วิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง (Sample) ที่สมาชิกในกลุ่มจำนวนหนึ่ง อาศัยทฤษฎีความน่าจะเป็นสรุปผล วางนัยทั่วไป หรืออ้างอิงไปยังมวลประชากร (Population) ของกลุ่มตัวอย่างนั้น ส่วนใหญ่ จะเกี่ยวกับการทดสอบสมมติฐาน เช่น t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวน การทดสอบด้วย ไคสแควร์ เป็นต้น สถิติอ้างอิงมีทั้งประเภทที่เป็นพาราเมติรก เช่น t-test การวิเคราะห์ความแปรปรวน และนอนพาราเมตริก เช่น Sign test, the Friedman test เป็นต้น

ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ (2550 : 129) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถิติที่ใช้สรุปข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างแล้วอาศัยทฤษฎีความน่าจะเป็นมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อช่วยตัดสินใจหรือสรุปผลไปยังกลุ่มประชากรเป้าหมาย สถิติเชิงอนุมานแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ 1) การประมาณค่าประชากรหรือค่าพารามิเตอร์ (Parameter Estimation) ได้แก่ การประมาณค่าเดียว (Point Estimation) การประมาณค่าเป็นช่วง (Interval Estimation) และ 2) การทดสอบสมมติฐาน (Hypothesis Testing) หรืออาจเรียกว่าการทดสอบความมีนัยสำคัญ (Tests of Significance) ได้แก่ สถิติทดสอบชนิดพาราเมตริก (Parametric Statistical tests) สถิติทดสอบชนิดนอนพาราเมตริก (Nonparametric Statistical Tests)

ชวนชัย เชื้อสาธุชน (2551 : 1 – 2) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถิติที่ศึกษากับสิ่งตัวอย่าง แล้วสรุปผลที่ศึกษาได้จากสิ่งตัวอย่างนั้นอ้างอิงไปถึงกลุ่มประชากรด้วยโดยอาศัยทฤษฎีความน่าจะเป็น สถิติแบบนี้สำคัญอยู่ที่สิ่งตัวอย่างจะต้องเป็นตัวแทนที่ดีของกลุ่มประชากร จึงจะทำให้การสรุปอ้างอิงจากสิ่งตัวอย่างไปถึงกลุ่มประชากรถูกต้องและเชื่อถือได้ เช่น สถาบันราชภัฏแห่งหนึ่งมีนักศึกษาจำนวน 500 คน อาจารย์คนหนึ่งต้องการทราบน้ำหนักเฉลี่ยของนักศึกษาสาขาการศึกษาทั้งหมด ถ้าอาจารย์คนนี้ใช้สถิติเชิงอ้างอิงก็ไม่จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักของนักศึกษาสาขาการศึกษาทุกคน เพียงแต่สุ่มสิ่งตัวอย่างมาจากจำนวน เช่น สุ่มมา 125 คน ชั่งน้ำหนัก ของนึกศึกษา 125 คนนี้แล้วหาค่าเฉลี่ย สมมุติว่าได้ 57.5 กิโลกรัม อาจารย์คนนี้ก็จะสามารถสรุปผลอ้างอิงไปถึงนักศึกษาสาขาการศึกษา ทั้ง 500 คน ว่าเฉลี่ยแล้วมีนำหนัก 57.5 กิโลกรัม สถิติเชิงอ้างอิงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1) สถิติประมาณค่า (Estimation Statistics) เป็นสถิติที่ใช้ประมาณค่าพารามิเตอร์ เช่น ประมาณค่า µ จาก ประมาณค่า r จาก S.D. หรือ S เป็นต้น และ 2) สถิติทดสอบ (Test Statistics) เป็นสถิติที่เกี่ยวกับการทดสอบสมมุติฐานของ การวิจัย

โปลีเทคนิคลานนา เชียงใหม่ (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นเทคนิคที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ( Sample) ซึ่งเป็นข้อมูลเพียงบางกลุ่มหรือบางส่วนของประชากร แล้วนำข้อสรุปที่ได้ไปคาดคะเนหรือสรุปอ้างอิงถึงลักษณะของประชากร ( Population) ทั้งกลุ่ม ซึ่งเราเรียกกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ว่า ตัวแทนของประชากร เทคนิคที่ใช้ในสถิติประเภทนี้ได้แก่ 1) เทคนิคการประมาณค่าพารามิเตอร์ (Estimation) คือการนำค่าสถิติที่ได้จากกลุ่มตัวอย่าง ไปประมาณหรือคาดคะเนค่าพารามิเตอร์ (Parameter) ของประชากร ซึ่งค่าพารามิเตอร์ ( Parameter) ก็คือค่าที่คำนวณหรือหามาได้จากหน่วยข้อมูลที่เราสนใจทั้งหมด ( Population) แต่ถ้าเป็นการเก็บข้อมูลจากหน่วยที่เลือกมาเป็นบางส่วนที่เรียกว่า กลุ่มตัวอย่าง (Sample) นั้น ค่าที่ได้จะถูกเรียกว่า ค่าสถิติ ( Statistics) และ 2) ทคนิคการทดสอบสมมุติฐาน ( Hypothesis Testing ) เป็นการนำเอาค่าสถิติที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างไปทดสอบสมมุติฐานทางสถิติเกี่ยวกับค่าพารามิเตอร์ของประชากร

วรรณ์ดี แสงประทีปทอง (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถิติ ที่ศึกษาข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างของประชากรที่สนใจ เพื่อให้ได้ค่าสถิติ (Sample statistic) จากนั้นนำค่าสถิติที่ได้อ้างอิงไปยังประชากร เพื่อประมาณค่าประชากรว่าควรเป็นเท่าไร เช่น การศึกษาความคิดเห็นของนายทหารจำนวนหนึ่ง แล้วสรุปเป็นความคิดเห็นของนายทหารทั้งกองทัพ ซึ่งกรณีนี้การทำให้ได้มาซึ่งกลุ่มตัวอย่างนายทหารจำนวนหนึ่งที่มีความเป็นตัวแทนของนายทหารทั้งกองทัพมีความสำคัญมาก ผู้สนใจสามารถศึกษาได้จากเรื่องการสุ่มตัวอย่าง

วาโร เพ็งสวัสดิ์ (2553 : 3) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถิติที่ใช้สรุปหรือประมาณค่าประชากรโดยอาศัยหลักความน่าจะเป็น ซึ่งจะศึกษาคุณลักษณะของกลุ่มตัวอย่าง (Statistic) เพื่อที่จะสรุปอ้างอิง (Generalized) ไปสู่คุณลักษณะของประชากร (Parameter) นั่นคือ เป็นการศึกษา จากกลุ่มตัวอย่าง (Sample) แล้วสรุปอ้างอิงไปยังประชากร (Population) สถิติประเภทนี้ ได้แก่ สถิติที่ใช้ในการประมาณค่าพารามิเตอร์ และสถิติที่ใช้ในการทดสอบสมมติฐานเกี่ยวกับค่าพารามิเตอร์ เป็นต้น

เอมอร จังศิริพรปกรณ์ (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า สถิติที่ใช้ในการสรุปอ้างอิงข้อมูลที่ได้จากกลุ่มตัวอย่างไปยังข้อมูลของประชากร โดยใช้ทฤษฎีความน่าจะเป็น การประมาณค่าพารามิเตอร์ การทดสอบสมมุติฐาน ดังนั้น เนื้อหาที่สำคัญในบทนี้จะนำเสนอ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถิติอ้างอิงก่อนได้แก่ มโนทัศน์เบื้องต้นของการแจกแจงความน่าจะเป็นแบบต่างๆ Sampling Distribution ของสถิติทดสอบแบบต่างๆ การสุ่มตัวอย่างและขนาดของกลุ่มตัวอย่าง การประมาณค่าพารามิเตอร์ แล้วจึงนำเสนอสถิติอ้างอิงเบื้องต้นที่สำคัญ ได้แก่ การทดสอบสมมติฐาน การวิเคราะห์ความแปรปรวน

จากความหมายดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า สถิติเชิงอ้างอิง/อนุมานเป็นสถิติที่ใช้อธิบายคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการศึกษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งหรือหลายกลุ่ม แล้วสามารถอ้างอิงไปยัง กลุ่มประชากรได้ สถิติอ้างอิงแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) สถิติมีพารามิเตอร์ (Parametric Statistics) สถิติที่อยู่ในประเภทนี้ เช่น t-test, Z-test, ANOVA, Regression เป็นต้น และ 2) สถิติไม่มีพารามิเตอร์ (Nonparametric Statistics) เป็นวิธีการทางสถิติที่สามารถนำมาใช้ได้ โดยปราศจากข้อตกลงเบื้อต้น สถิติที่อยู่ในประเภทนี้ เช่น ไคสแควร์, Median Test, Sign test เป็นต้น

การใช้สถิติเชิงพรรณนา/บรรยายในการวิจัย

1. ความหมายของสถิติเชิงบรรยายหรือสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Research)

นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้

บุญชม ศรีสะอาด (2547 : 15) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นวิธีการทางสถิติที่จะช่วยให้ทราบถึงคุณลักษณะของกลุ่มที่ต้องการศึกษาในตัวแปรต่าง ๆ อาจเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ ก็ได้ อาจเป็นกลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มประชากร กรณีเป็นกลุ่มตัวอย่างจะไม่วางนัยทั่วไปหรือสรุปครอบคลุมยังมวลประชากร (Population) ของกลุ่มตัวอย่างนั้น สถิติพรรณนาประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ มาตราวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง มาตราวัดการกระจาย

กัลยา วานิชย์บัญชา (2549 : 7) ได้กล่าวถึงการวิจัยเชิงบรรยายไว้ว่า เป็นสถิติที่ใช้ในการสรุปลักษณะที่สำคัญของกลุ่มประชากรหรือกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่ากลาง (ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ค่าฐานนิยม) ค่าการกระจาย (ค่าแปรปรวน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ ค่าควอไทล์ สัมประสิทธิ์ความผันแปร ฯลฯ) กราฟต่างๆ เช่น กราฟวงกลม กราฟแท่ง ซิสโตแกรม บล็อกพล็อต (Boxplot) ฯลฯ

ธานินท์ ศิลป์จารุ (2549 : 18 – 19) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การวิจัยเชิงบรรยาย เป็นกระบวนการแสวงหาคำตอบที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การศึกษาด้านสำมะโนครัวประชากรของประเทศ การศึกษาพฤติกรรมหรือทัศนคติของผู้บริโภค การวิจัยเชิงบรรยาย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เป็นวิธีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลโดยทั่วไปเพื่อให้ทราบสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน 2) การวิจัยความสัมพันธ์ ของตัวแปร (Interrelationship Research) เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่าง หรือความสัมพันธ์ของตัวแปรที่กำหนดขึ้นในงานวิจัย 3) การวิจัยพัฒนาการ (Development research) เป็นการค้นหาความรู้และความเป็นจริงในด้านการพัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งแบ่งได้เป็นการศึกษาความเจริญเติบโต (Growth Studies) และการศึกษาแนวโน้ม (Trend Studies) และ 4) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นวิธีศึกษาปรากฏการณ์จากสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริงในทุกแง่มุม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจปรากฏการณ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งไม่สามารถวัดค่าในรูปปริมาณได้ เช่น ความรู้สึกนึกคิด ประวัติชีวิต ค่านิยมและประสบการณ์ หรือปัญหาในการดำเนินชีวิตบางประการ รวมทั้งอุดมการณ์ต่าง ๆ

ธีรวุฒิ เอกะกุล (2550 : 29) ได้ให้ความหมายว่า เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษา ค้นคว้าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบถึงเหตุการณ์หรือปรากฏการนั้น ๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร และสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เป็นการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว ไม่มีการจัดกระทำ (Manipulated) และนำมาวิเคราะห์เพื่อบรรยาย โดยส่วนมากใช้ระเบียบวิธีการทางสถิติช่วยในการวิเคราะห์และสรุปผล

ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ (2550 : 77) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การวิจัยเชิงปริมาณ แบบไม่ทดลอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจหรือบรรยายสภาพทั่วไป สถานการณ์ ความรู้ ความคิด พฤติกรรมต่าง ๆ ของประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้ทราบลักษณะของตัวแปร รวมทั้งการ แจกแจงของตัวแปรที่สนใจศึกษาตามตัวแปรอื่น ๆ ที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อบรรยายข้อมูล ให้ลึกซึ้งมากขึ้น นอกจากนั้นยังมุ่งหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามสภาพที่เป็นอยู่ หรือ มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่าง ๆ โดยไม่มีการควบคุมตัวแปร เพื่ออธิบายและทำนายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรโดยไม่มุ่งทดสอบความสัมพันธ์เขิงสาเหตุ การวิจัยเชิงบรรยาย แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1) การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) 2) การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ (Correlational Research) และ 3) การวิจัยเชิงพัฒนาการ (Developmental Research) ตัวอย่างการวิจัยเชิงพรรณนา เช่น การสำรวจความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษากับความสามารถในการใช้ยาได้ถูกต้อง การศึกษาแนวโน้มความต้องการกำลังคนสายวิชาชีพเภสัชกรรมในอีก 10 ปีข้างหน้า

ชวนชัย เชื้อสาธุชน (2551 : 1) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถิติที่บรรยายให้เห็นคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการศึกษาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มเล็กก็ได้ ผลของการศึกษาไม่สามารถนำไปอ้างอิงถึงกลุ่มอื่นได้ เช่น ครูหาน้ำหนักเฉลี่ย ของนักศึกษาชาย ได้ 60 กิโลกรัม ครูคนนี้จะสรุปอ้างอิงว่านักศึกษาชาย ห้องอื่น ๆ มีน้ำหนักเฉลี่ย 60 กิโลกรัมด้วยไม่ได้

นิภา ศรีไพโรจน์ (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การวิจัยเชิงบรรยายเป็นการวิจัยที่มุ่ง ค้นหาข้อเท็จจริง หรืออธิบายปรากฏการณ์ สภาพการณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันว่ามีสภาพความเป็นจริงอย่างไร การวิจัยประเภทนี้อาจศึกษาแบบสำรวจ หรือแบบหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรือแบบพัฒนาการก็ได้ แต่ผลการวิจัยที่ได้มักจะเป็นการตอบคำถามว่า สภาพการณ์ในปัจจุบันเป็นเช่นไรการวิจัยเชิงบรรยายทั่ว ๆ ไปนิยมวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ ความคิดเห็น เจตคติ หรือสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

โปลีเทคนิคลานนา เชียงใหม่ (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นเทคนิคที่ใช้ในการหาข้อสรุปของข้อมูล ( โดยข้อมูลส่วนใหญ่จะผ่านกระบวนการทางสถิติทำให้ลดขนาดของข้อมูลลงจนสามารถ เข้าใจได้ ) ข้อสรุปหรือผลที่ได้ไม่สามารถนำไปใช้ในการอ้างอิง เป็นตัวแทนหรือใช้ทรัพยากรกลุ่มอื่นๆหรือข้อมูลโดยทั่วไปได้ ซึ่งข้อสรุปและผลที่ได้จะพรรณนาลักษณะหรือแจกแจงข้อมูลตามที่ได้รวบรวมมา เท่านั้น มักนำเสนอในรูปของ ตาราง แผนภาพ แผนภูมิ ร้อยละ สัดส่วน เปอร์เซ็นต์ไทล์ การแจกแจงความถี่ การหาค่าเฉลี่ย การวัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่รวบรวมไว้ในรูปของตัวแปรเชิงคุณภาพ ( Qualitative Variables) เช่น เพศ , ความขยันของพนักงาน , ขวัญ หรือความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ หรือตัวแปรเชิงปริมาณ ( Quantitative Variables) เช่น อายุ , ความฉลาด , น้ำหนัก ฯลฯ

วรรณ์ดี แสงประทีปทอง (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถิติที่ มุ่งบรรยาย หรืออธิบายลักษณะของสิ่งที่ศึกษา ซึ่งอาจเป็นกลุ่มตัวอย่าง หรือประชากรก็ได้ การบรรยายนั้นมุ่งบรรยายภาพรวมของข้อมูลชุดนั้น ผลของการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ไม่สามารถนำไปอ้างอิงใช้กับข้อมูลชุดอื่นๆ ได้ เช่น จากการสำรวจความคิดเห็นของนิสิตคณะรัฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ข้อสรุป ข้อสรุปนี้เป็นความคิดเห็นของนิสิตคณะรัฐศาสตร์กลุ่มที่สำรวจเท่านั้น ไม่สามารถนำไปสรุปว่าเป็นความคิดเห็นของนิสิตคนอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน สถิติเชิงบรรยายประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ของข้อมูล การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่างๆ การจัดตำแหน่งเปรียบเทียบข้อมูล การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง การวัดการกระจายของข้อมูล และการวัด ความสัมพันธ์ของข้อมูล

วาโร เพ็งสวัสดิ์ (2553 : 3) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถิติที่ใช้บรรยายให้เห็นคุณลักษณะ หรือคุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการศึกษาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มเล็กก็ได้ ผลที่ได้จากการศึกษานั้นจะบอกได้เพียงคุณลักษณะ หรือคุณสมบัติของกลุ่มที่ศึกษาเท่านั้น ไม่สามารถนำผลสรุปไปใช้อ้างอิงหรือทำนายค่าของกลุ่มอื่นได้ สถิติประเภทนี้ ได้แก่ การแจกแจงความถี่ การจัดตำแหน่ง เปรียบเทียบ การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง การวัดการกระจาย การวัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร เป็นต้น

เอมอร จังศิริพรปกรณ์ (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า สถิติที่ใช้ ในการศึกษาข้อ เท็จจริงจากกลุ่มข้อมูลที่รวบรวมมาได้ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของข้อมูลกลุ่มนั้นโดยไม่ได้สรุปอ้าง อิงผลการศึกษาไปยังกลุ่มข้อมูลกลุ่มอื่นหรือสรุปอ้างอิงไปยังประชากรที่ ศึกษา การบรรยายสรุปลักษณะของกลุ่มข้อมูลได้แก่ การแจกแจงความถี่ การวัดตำแหน่งการเปรียบเทียบ การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลางและการกระจายข้อมูล เป็นต้น

จากความหมายดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า สถิติเชิงบรรยาย/พรรณนา เป็นสถิติที่ใช้อธิบายคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการศึกษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่สามารถอ้าอิงไปยังกลุ่มอื่น ๆ ได้ สถิติที่อยู่ในประเภทนี้ เช่น ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ค่าฐานนิยม ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าพิสัย เป็นต้น