วันพุธที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การใช้สถิติเชิงพรรณนา/บรรยายในการวิจัย

1. ความหมายของสถิติเชิงบรรยายหรือสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive Research)

นักวิชาการหลายท่านได้ให้ความหมายไว้ ดังนี้

บุญชม ศรีสะอาด (2547 : 15) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นวิธีการทางสถิติที่จะช่วยให้ทราบถึงคุณลักษณะของกลุ่มที่ต้องการศึกษาในตัวแปรต่าง ๆ อาจเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ ก็ได้ อาจเป็นกลุ่มตัวอย่างหรือกลุ่มประชากร กรณีเป็นกลุ่มตัวอย่างจะไม่วางนัยทั่วไปหรือสรุปครอบคลุมยังมวลประชากร (Population) ของกลุ่มตัวอย่างนั้น สถิติพรรณนาประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ มาตราวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง มาตราวัดการกระจาย

กัลยา วานิชย์บัญชา (2549 : 7) ได้กล่าวถึงการวิจัยเชิงบรรยายไว้ว่า เป็นสถิติที่ใช้ในการสรุปลักษณะที่สำคัญของกลุ่มประชากรหรือกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่ากลาง (ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ค่าฐานนิยม) ค่าการกระจาย (ค่าแปรปรวน ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ ค่าควอไทล์ สัมประสิทธิ์ความผันแปร ฯลฯ) กราฟต่างๆ เช่น กราฟวงกลม กราฟแท่ง ซิสโตแกรม บล็อกพล็อต (Boxplot) ฯลฯ

ธานินท์ ศิลป์จารุ (2549 : 18 – 19) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การวิจัยเชิงบรรยาย เป็นกระบวนการแสวงหาคำตอบที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบัน เช่น การศึกษาด้านสำมะโนครัวประชากรของประเทศ การศึกษาพฤติกรรมหรือทัศนคติของผู้บริโภค การวิจัยเชิงบรรยาย แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ 1) การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) เป็นวิธีการศึกษาและรวบรวมข้อมูลโดยทั่วไปเพื่อให้ทราบสภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน 2) การวิจัยความสัมพันธ์ ของตัวแปร (Interrelationship Research) เป็นการวิจัยเพื่อศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่าง หรือความสัมพันธ์ของตัวแปรที่กำหนดขึ้นในงานวิจัย 3) การวิจัยพัฒนาการ (Development research) เป็นการค้นหาความรู้และความเป็นจริงในด้านการพัฒนาการของสิ่งต่าง ๆ ในช่วงระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งแบ่งได้เป็นการศึกษาความเจริญเติบโต (Growth Studies) และการศึกษาแนวโน้ม (Trend Studies) และ 4) การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เป็นวิธีศึกษาปรากฏการณ์จากสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริงในทุกแง่มุม เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจปรากฏการณ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นการวิจัยซึ่งเกี่ยวข้องกับข้อมูลทางสังคมและวัฒนธรรม ซึ่งไม่สามารถวัดค่าในรูปปริมาณได้ เช่น ความรู้สึกนึกคิด ประวัติชีวิต ค่านิยมและประสบการณ์ หรือปัญหาในการดำเนินชีวิตบางประการ รวมทั้งอุดมการณ์ต่าง ๆ

ธีรวุฒิ เอกะกุล (2550 : 29) ได้ให้ความหมายว่า เป็นการวิจัยที่มุ่งศึกษา ค้นคว้าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเหตุการณ์ หรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งนี้เพื่อต้องการทราบถึงเหตุการณ์หรือปรากฏการนั้น ๆ ที่เกิดขึ้นว่าเป็นอย่างไร มีลักษณะอย่างไร และสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง เป็นการรวบรวมข้อมูลที่เกิดขึ้นก่อนแล้ว ไม่มีการจัดกระทำ (Manipulated) และนำมาวิเคราะห์เพื่อบรรยาย โดยส่วนมากใช้ระเบียบวิธีการทางสถิติช่วยในการวิเคราะห์และสรุปผล

ศุภกิจ วงศ์วิวัฒนนุกิจ (2550 : 77) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การวิจัยเชิงปริมาณ แบบไม่ทดลอง มีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจหรือบรรยายสภาพทั่วไป สถานการณ์ ความรู้ ความคิด พฤติกรรมต่าง ๆ ของประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อให้ทราบลักษณะของตัวแปร รวมทั้งการ แจกแจงของตัวแปรที่สนใจศึกษาตามตัวแปรอื่น ๆ ที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม เพื่อบรรยายข้อมูล ให้ลึกซึ้งมากขึ้น นอกจากนั้นยังมุ่งหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรตามสภาพที่เป็นอยู่ หรือ มุ่งศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่าง ๆ โดยไม่มีการควบคุมตัวแปร เพื่ออธิบายและทำนายความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรโดยไม่มุ่งทดสอบความสัมพันธ์เขิงสาเหตุ การวิจัยเชิงบรรยาย แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ คือ 1) การวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) 2) การวิจัยเชิงสหสัมพันธ์ (Correlational Research) และ 3) การวิจัยเชิงพัฒนาการ (Developmental Research) ตัวอย่างการวิจัยเชิงพรรณนา เช่น การสำรวจความรู้เกี่ยวกับการดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับการศึกษากับความสามารถในการใช้ยาได้ถูกต้อง การศึกษาแนวโน้มความต้องการกำลังคนสายวิชาชีพเภสัชกรรมในอีก 10 ปีข้างหน้า

ชวนชัย เชื้อสาธุชน (2551 : 1) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถิติที่บรรยายให้เห็นคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการศึกษาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มเล็กก็ได้ ผลของการศึกษาไม่สามารถนำไปอ้างอิงถึงกลุ่มอื่นได้ เช่น ครูหาน้ำหนักเฉลี่ย ของนักศึกษาชาย ได้ 60 กิโลกรัม ครูคนนี้จะสรุปอ้างอิงว่านักศึกษาชาย ห้องอื่น ๆ มีน้ำหนักเฉลี่ย 60 กิโลกรัมด้วยไม่ได้

นิภา ศรีไพโรจน์ (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การวิจัยเชิงบรรยายเป็นการวิจัยที่มุ่ง ค้นหาข้อเท็จจริง หรืออธิบายปรากฏการณ์ สภาพการณ์ที่ปรากฏในปัจจุบันว่ามีสภาพความเป็นจริงอย่างไร การวิจัยประเภทนี้อาจศึกษาแบบสำรวจ หรือแบบหาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรือแบบพัฒนาการก็ได้ แต่ผลการวิจัยที่ได้มักจะเป็นการตอบคำถามว่า สภาพการณ์ในปัจจุบันเป็นเช่นไรการวิจัยเชิงบรรยายทั่ว ๆ ไปนิยมวิจัยเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อ ความคิดเห็น เจตคติ หรือสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

โปลีเทคนิคลานนา เชียงใหม่ (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นเทคนิคที่ใช้ในการหาข้อสรุปของข้อมูล ( โดยข้อมูลส่วนใหญ่จะผ่านกระบวนการทางสถิติทำให้ลดขนาดของข้อมูลลงจนสามารถ เข้าใจได้ ) ข้อสรุปหรือผลที่ได้ไม่สามารถนำไปใช้ในการอ้างอิง เป็นตัวแทนหรือใช้ทรัพยากรกลุ่มอื่นๆหรือข้อมูลโดยทั่วไปได้ ซึ่งข้อสรุปและผลที่ได้จะพรรณนาลักษณะหรือแจกแจงข้อมูลตามที่ได้รวบรวมมา เท่านั้น มักนำเสนอในรูปของ ตาราง แผนภาพ แผนภูมิ ร้อยละ สัดส่วน เปอร์เซ็นต์ไทล์ การแจกแจงความถี่ การหาค่าเฉลี่ย การวัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ฯลฯ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่รวบรวมไว้ในรูปของตัวแปรเชิงคุณภาพ ( Qualitative Variables) เช่น เพศ , ความขยันของพนักงาน , ขวัญ หรือความพึงพอใจของผู้ปฏิบัติงาน ฯลฯ หรือตัวแปรเชิงปริมาณ ( Quantitative Variables) เช่น อายุ , ความฉลาด , น้ำหนัก ฯลฯ

วรรณ์ดี แสงประทีปทอง (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถิติที่ มุ่งบรรยาย หรืออธิบายลักษณะของสิ่งที่ศึกษา ซึ่งอาจเป็นกลุ่มตัวอย่าง หรือประชากรก็ได้ การบรรยายนั้นมุ่งบรรยายภาพรวมของข้อมูลชุดนั้น ผลของการวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้ไม่สามารถนำไปอ้างอิงใช้กับข้อมูลชุดอื่นๆ ได้ เช่น จากการสำรวจความคิดเห็นของนิสิตคณะรัฐศาสตร์กลุ่มหนึ่งได้ข้อสรุป ข้อสรุปนี้เป็นความคิดเห็นของนิสิตคณะรัฐศาสตร์กลุ่มที่สำรวจเท่านั้น ไม่สามารถนำไปสรุปว่าเป็นความคิดเห็นของนิสิตคนอื่นๆ ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน สถิติเชิงบรรยายประกอบด้วย การแจกแจงความถี่ของข้อมูล การนำเสนอข้อมูลในรูปแบบต่างๆ การจัดตำแหน่งเปรียบเทียบข้อมูล การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง การวัดการกระจายของข้อมูล และการวัด ความสัมพันธ์ของข้อมูล

วาโร เพ็งสวัสดิ์ (2553 : 3) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นสถิติที่ใช้บรรยายให้เห็นคุณลักษณะ หรือคุณสมบัติของสิ่งที่ต้องการศึกษาจากกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มใหญ่หรือกลุ่มเล็กก็ได้ ผลที่ได้จากการศึกษานั้นจะบอกได้เพียงคุณลักษณะ หรือคุณสมบัติของกลุ่มที่ศึกษาเท่านั้น ไม่สามารถนำผลสรุปไปใช้อ้างอิงหรือทำนายค่าของกลุ่มอื่นได้ สถิติประเภทนี้ ได้แก่ การแจกแจงความถี่ การจัดตำแหน่ง เปรียบเทียบ การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลาง การวัดการกระจาย การวัดความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร เป็นต้น

เอมอร จังศิริพรปกรณ์ (2553 : ออนไลน์) ได้ให้ความหมายไว้ว่า สถิติที่ใช้ ในการศึกษาข้อ เท็จจริงจากกลุ่มข้อมูลที่รวบรวมมาได้ เพื่อให้ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับลักษณะของข้อมูลกลุ่มนั้นโดยไม่ได้สรุปอ้าง อิงผลการศึกษาไปยังกลุ่มข้อมูลกลุ่มอื่นหรือสรุปอ้างอิงไปยังประชากรที่ ศึกษา การบรรยายสรุปลักษณะของกลุ่มข้อมูลได้แก่ การแจกแจงความถี่ การวัดตำแหน่งการเปรียบเทียบ การวัดแนวโน้มเข้าสู่ส่วนกลางและการกระจายข้อมูล เป็นต้น

จากความหมายดังกล่าวข้างต้น สรุปได้ว่า สถิติเชิงบรรยาย/พรรณนา เป็นสถิติที่ใช้อธิบายคุณลักษณะของสิ่งที่ต้องการศึกษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่สามารถอ้าอิงไปยังกลุ่มอื่น ๆ ได้ สถิติที่อยู่ในประเภทนี้ เช่น ค่าเฉลี่ย ค่ามัธยฐาน ค่าฐานนิยม ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าพิสัย เป็นต้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น